วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554

เคล็ดลับการสนทนา

การพูดจาหรือสนทนานั้นเป็นเรื่องที่ใครๆก็ทำได้ เด็กอายุขวบกว่าๆ ก็สามารถพูดได้แล้ว แต่...
การพูดที่ดีมีคนใจฟัง การพูดที่ทำให้เรามีมิตรเพิ่มขึ้น วิธีการพูดการสนทนาที่ทำให้เราประสบความสำเร็จหรือบรรลุเป้าหมายนั้น เป็นเรื่องยากกว่าการพูดแบบปกติทั่วไป การพูดแบบนี้ต้องอาศัยทักษะ อาศัยการพูดจาหว่านล้อมและความสามารถเฉพาะตน แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวช่วยวิเศษที่สุดคือ มารยาทอันดีเลิศในการพูด ซึ่งมีเคล็ดลับอยู่หลายประการที่ต้องจดจำเอาไปใช้ให้ถูกกับกาลเทศะ
สิ่งที่ "ควรทำ" ในการสนทนา
- ไม่พูดมากเกินไป ในทุกบทสนทนา ไม่ว่าจะเป็นการพบปะพูดคุยกันโดยตรง หรือพูดคุยทางโทรศัพท์ก็ตาม เราควรเว้นจังหวะให้ผู้ฟังได้เป็นฝ่ายพูดบ้าง ไม่ใช่ผูกขาดการพูดอยู่ฝ่ายเดียว
- ไม่ขัดจังหวะ ตามมารยาทที่ดีแล้ว แม้ว่าผู้พูดจะพูดมาก พูดยาว แต่ว่าเราก็ไม่ควรพูดแทรกกลางคัน หรือขัดจังหวะการพูดโดยไม่จำเป็น ซึ่งถือเป็นการไม่สุภาพ
- ไม่พูดแต่เรื่องของตนเอง ไม่ว่าคุณจะพูดคุยกับเพื่อนฝูงหรือพูดจาทางธุรกิจก็ตาม การสนทนาที่ดีและราบรื่นนั้นจะต้องมาจากการที่ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยแสดงความเห็นซึ่งกันและกัน ไม่ใช่อีกฝ่ายเอาแต่เล่าเรื่องของตน โดยไม่สนใจว่าคู่สนทนาจะรู้สึกอย่างไร เบื่อหน่ายหรือไม่
- ไม่พูดแทรกในขณะที่ฟังยังไม่จบ ถ้าผู้พูดมีประเด็นการพูดที่ค่อนข้างยาว เช่น มีข้อแสดงความคิดเห็น 3 ข้อ เราก็ควรฟังให้ครบทั้ง 3 ข้อเสียก่อน ไม่ใช่พูดแทรกขึ้นมาหรือโต้แย้ง ทั้งๆ ที่ยังฟังไม่ครบทุกประเด็น เพราะสิ่งที่คุณกำลังพูดหรือโต้แย้งขัดคออยู่นั้น อาจมีคำตอบอยู่ในประเด็นที่เหลือที่เขายังไม่ได้พูดก็ได้
- ไม่นินทาคนใกล้ชิด การนำเรื่องวงในไปพูดต่อที่สาธารณะเขาเรียกว่า "สาวไส้ให้กากิน" ซึ่งผู้เสียประโยชน์ก็เห็นจะเป็นผู้พูดนี่แหละ เพราะไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะนำความบกพร่องของเราเองหรือของคนใกล้ชิดไปเล่าให้คนอื่นฟัง ไม่ว่าจะเป็นสามี ภรรยา เพื่อน เจ้านาย ลูกน้อง ฯลฯ เพราะนอกจากคนวงนอกจะรู้เรื่องที่ไม่ควรรู้แล้ว ตัวผู้พูดเองอาจจะถูกมองว่าเป็นคนไม่ซื่อสัตย์ ไม่จริงใจ ไม่น่าไว้ใจที่จะคบหาสนิทสนมด้วย
- ไม่พูดจาอวดรวย วิธีการพูดอย่างหนึ่งที่สร้างความรู้สึกหมั่นไส้ได้มากที่สุด คือ การอวดความร่ำรวยของตนเอง
- ไม่พูดอวดความสามารถของตน ความรวยหนึ่ง ความเก่งหนึ่ง เป็นเรื่องที่ไม่ควรอวดอย่างยิ่ง เพราะจะไม่สร้างความรู้สึกในแง่บวกให้เกิดขึ้นกับคนฟังเลย ถ้าคุณพูดว่าตัวเองเก่งเรื่องนั้น เก่งเรื่องนี้ ถ้าคุณเก่งจริงก็แค่เสมอตัว แต่ถ้าเก่งน้อยกว่าที่พูดไป หรือทำพลาดในสิ่งตนเองอวดว่าเก่ง ก็จะมีคนทับถมสมน้ำหน้า สู้เปิดเผยความเก่งที่มีด้วยการแสดงความสามารถออกมาให้ผู้อื่นรับรู้เองจะดีกว่า ให้เขาเห็นเองว่าคุณเก่งโดยที่คุณไม่ต้องพูด ก็น่าจะได้รับคำชื่นชมมากกว่าพูดอวดออกไป
- ไม่บ่นถึงเคราะห์กรรมของตนเอง ถ้าคุณนั่งคุยกับใคร แล้วบ่นว่าคุณโชคร้ายเหลือเกิน งานก็ไม่ก้าวหน้า เงินก็ไม่มี ครอบครัวก็แย่ แก่ลงแก่ง ปลงคอยเกษียณ คุณว่าคู่สนทนาจะยังอยากคุยกับคุณไม ? ถ้าคู่สนทนาไม่ใช่เพื่อสนิทหรือญาติพี่น้อง เราไม่ควรนำเรื่องส่วนตัวแบบนี้ไปเล่าให้เขาฟัง เพราะมันไม่เกิดประโยชน์กับใครเลย มีแต่จะน่าสมเพชมากกว่า
- ไม่ควรติเตียนผู้มีพระคุณ ผู้ที่มีพระคุณกับเรา เช่น เจ้านาย องค์กร ญาติผู้ใหญ่ เป็นบุคคลที่เราไม่ควรแม้แต่จะคิดตำหนิติเตียน และยิ่งพูดออกไปให้คนอื่นทราบก็ยิ่งเป็นสิ่งไม่ควรทำ โดยเฉพาะในสังคมไทย แม้ว่าองค์กรที่เราสังกัดอยู่อาจจะมีข้อบกพร่องบ้าง เจ้าหน้าหรือญาติผู้ใหญ่จะมีนิสัยบางประการที่ไม่ดี เราไม่ชอบเอามากๆ แต่เราก็ไม่ควรนำมาวิพากษ์วิจารณ์หรือพูดคุยกันให้เป็นเรื่องสนุกปาก และถ้าไปพูดกับคนวงนอกก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง
- ไม่ควรปฏิเสธความหวังดีของคู่สนทนา สำหรับคู่สนทนาบางคนที่แสดงความเห็น แสดงความปรารถนาดีชี้ข้อบกพร่องหรือข้อควรปรับปรุงของเราให้เราทราบ แน่อยู่ว่าในใจลึกๆ เราอาจจะไม่ค่อยพอใจที่เขาเห็นข้อตำหนิหรือข้อบกพร่อง ใครๆก็ชอบฟังคำชมทั้งนั้น แต่โดยมารยาทอันดีแล้ว เราควรน้อมรับคำแนะนำติชมเหล่านั้นเอาไว้ด้วยกิริยามารยาทที่ดี คิดเสียว่าเป็นเพราะเขาปรารถนาดีต่อเรา


ที่มา : มองคนทำงาน โดย เอิร์ธ สายสว่าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น